วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

'คอตีบ' โรคที่ไม่ควรมองข้าม

              โอ๊ยยยย !! เจ็บ !! โอ๊ยยย !! ปวด  โอ๊ยเจ็บ โอ๊ยปวดๆๆ จนทนไม่ได้ ..... 
สวัสดีทักทายกับผู้อ่านต้นเดือน พฤศจิกายนกับผม นายแม็ํกกี้ครับ อย่าเพิ่งแปลกใจว่าเอ๊ะ กระผมนายแม็กกี้ เป็นอะไร ไปทำอะไรมาถึงมาบ่น เจ็บๆ ปวดๆ นะครับ นั่นก็เพราะว่าวันนี้ 
กระผมนายแม็กกี้ ได้ไปฉีดรับวัคซีน 'คอตีบ' หรือ Diphtheria (ศัพท์แพทย์) มานั่นเองนะครับ  เหตุเพราะว่า โรคคอตีบกลับมาระบาดอีกครั้ง ในประเทศไทย และล่าสุดพบมีผู้่ป่วยติดเชื้อแล้วกว่า 100 ราย ใน 15 จังหวัดนั่นแหละครับ สามารถหาอ่านข่าวเพิ่มเติมนี้ได้ที่ ไทยรัฐออนไลน์คลิกครับ เพราะวันนี้แม็กไม่ได้จะมาอ่านข่าวให้กับผู้อ่านนะครับ แต่ผมจะมาพูดถึง รายละเอียดและการป้องกันของโรคคอตีบครับ เพราะโรคคอตีบเนี้ย ที่เราๆๆ เคยฉีดกันตอนเด็กๆๆ นะครับหลังจากฉีดแล้วจะมีภูมิคุ้มกันเพียงแค่ 10 ปีเท่านั้นนะครับ นั่นหมายความว่าหลังจากนั้นร่างกายเราจะหมดภูมิคุ้มกันครับ 

  โรคคอตีบ 

โรคคอตีบ (Diphtheria) เป็นโรคเกิดจากทางเดินหายใจติดเชื้อแบคทีเรีย ชนิด Chorynebacterium diphtheriae ปัจจุบัน เป็นโรคพบได้น้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่อง จากมีการฉีดวัคซีนป้องกัน โรคนี้ตั้งแต่เป็นทารกอายุ 2 เดือนอย่างทั่วถึง แต่ยังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศในเขตร้อนที่ยังไม่พัฒนา หรือ กำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย เพราะการขาดแคลนวัคซีน หรือเด็กไม่ได้รับวัคซีนเพราะคลอดเองที่บ้าน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เป็นโรคของเขตร้อน แต่ก็สามารถพบโรคเกิดได้ทั่วโลก รวมทั้งเคยมีการระบาดมาแล้วในประเทศเยอรมัน และประเทศแคนาดา

มีอาการแสดงอย่างไร

อาการของโรคคอตีบมักเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 2-5 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) แต่อาจนานได้ถึง 10 วัน และผู้ป่วยมักมีอาการอยู่ได้นานถึง 4-6 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
อาการพบบ่อยของโรคคอตีบ คือ
  • มีไข้ มักไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส อาจรู้สึกหนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย เจ็บคอมาก กิน/ดื่มแล้วเจ็บคอมาก จึงกิน/ดื่มได้น้อย
  • หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หายใจเร็ว หอบ เหนื่อย
  • คออาจบวม และไอ เสียงดังเหมือนสุนัขเห่า
  • มีแผ่นเยื่อในจมูก ต่อมทอนซิล ลำคอ และกล่องเสียง ก่ออาการค่อยๆมีเสียงแหบลงเรื่อยๆ และน้ำมูกอาจมีเลือดปน
  • มีต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอ บวม โต ซึ่งโตได้ทั้งสองข้าง
  • หลังจากมีอาการทาง ทางเดินหายใจแล้ว อาจพบมีแผลบริเวณผิวหนัง พบได้ทั่วตัว แต่พบบ่อยบริเวณ แขน และขา แผลมีลักษณะเหมือนแผลทั่วไป แต่เมื่อตรวจเชื้อจะพบว่าเกิดจากเชื้อโรคคอตีบ 

 แนวทางการรักษาและการวินิจฉัยของแพทย์

แพทย์วินิจฉัยโรคคอตีบได้จาก ประวัติอาการ ประวัติสัมผัสโรค ประวัติการฉีดวัคซีน การตรวจร่างกาย การตรวจย้อมเชื้อจากการป้ายสารคัดหลั่งจากโพรงหลังจมูก หรือจากลำคอ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น ตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการเอกซเรย์ปอด
แนวทางการรักษาโรคคอตีบ มักเป็นการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเสมอเพราะเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง การรักษาได้แก่ การให้ยาต้านสารพิษของเชื้อ การให้ยาปฏิชีวนะ และการฉีดวัคซีนโรคคอตีบเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อโรค

ผลข้างเคียงของโรคคอตีบ

ผลข้างเคียงจาก โรคคอตีบเกิดจากสารพิษแพร่กระจายเข้าสู่กระแสโลหิตและก่อให้เกิดโรคต่างๆดัง ได้กล่าวแล้ว ซึ่งที่อาจพบได้ คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (หอบ เหนื่อย นอนราบไม่ได้ บวม) และ ประสาทอักเสบ (กล้ามเนื้ออ่อนแรง) ซึ่งถ้าเกิดกับประสาทกล้ามเนื้อหาย ใจ จะส่งผลให้หายใจเองไม่ได้
โรคคอตีบจัดเป็นโรครุนแรง เป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ความรุนแรงของโรคขึ้นกับ การได้รับยาต้าน สารพิษและยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วภายใน 1-2 วันหลังมีอาการ ซึ่งช่วยลดอัตราเสียชีวิตลงเหลือประมาณ 1% แต่ถ้ามาพบแพทย์ล่าช้า หรือเมื่อผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี หรืออายุสูงตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือเกิดผลข้างเคียงแล้ว อัตราเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20%

การป้องกันตนเองจากคอตีบ

การป้องกันโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งเริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือน โดยอยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวม โรคคอตีบ โรคบาดทะยัก และโรคไอกรน (DTP vaccine/ วัคซีน ดีพีที:Diphtheria, Tetanus และ Pertussis) ฉีดทั้งหมด 5 เข็ม เป็นระยะๆจาก อายุ 2 เดือน จนถึงอายุ 6 ปี ตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของกระทรวงสาธารณสุขของเรา พ.ศ. 2548 โดยเข็มแรกฉีดที่อายุ 2 เดือน เข็มที่ 2 อายุ 4 เดือน เข็มที่ 3 อายุ 6 เดือน เข็มที่ 4 อายุ 18 เดือน และเข็มที่ 5 อายุ 4-6 ปี ต่อจากนั้นฉีดกระตุ้นเมื่ออายุ 12-16 ปี เฉพาะวัคซีนคอตีบและบาดทะยัก (วัคซีน ดีที/DT) ไม่ต้องฉีดวัคซีนไอกรนเพราะเป็นโรคมักพบเฉพาะในเด็ก และต่อไปฉีดกระตุ้นทุกๆ 10 ปี เฉพาะวัคซีน ดีที
นอกจากนั้น คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญคือ
  • การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน พื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็ง แรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆซึ่งรวมทั้งเชื้อโรคคอตีบ และลดการติดโรคที่ก่อให้ เกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ 
  • การรู้จักใช้หน้ากากอนามัย และ
  • การร่วมมือกันในชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีสุขอนามัยที่ดี
     ที่นี้ หวังว่าผู้อ่านหลายท่านคงเข้าใจในโรคคอตีบกันมากขึ้นแล้วสินะครับ อย่างไรก็ป้องกันตัวเอง ด้วยการพบแพทย์ ฉีดวัคซีนคอตีบป้องกันตัวเองไว้ดีทีุ่สุดนะครับ และพบกับแม็กใหม่ในcontent หน้านะครับ และแม็กจะนำเอาสาระดีๆๆ มาฝากกันอีกครับผม
 ......  บ๊าย บาย โอ๊ยๆๆ เจ็บๆๆ // twitter :tanaesuan (นายแม็กกี้)

แสดงความคิดเห็นบนบล็อกนายร็อกกี้ ผ่าน FB